หน่วยการเรียนรู้ที่3 "การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย

การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย 

การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยสามารถปฏิบัติได้หลายวิธีดังต่อไปนี้ 

1. จัดให้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยจากคนรุ่นเก่าสู่คนรู่นใหม่ เช่น การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านทั้งลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเรือ ด้วยการจัดชมรมประจำท้องถิ่น หรือการเชิญพ่อเพลงแม่เพลงในชุมชนมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง หรือจัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียน เป็นต้น

2. เปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคมที่ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและ ภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย เช่น ควรส่งเสริมการศึกษาและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรไทย เช่น ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ได้นำสมุนไพรต่าง ๆ มาสกัดเป็นยารักษาโรค เครื่องสำอาง ขายให้กับประชาชนทั้วไป เป็นต้น 

3. ร่วมกันทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้ จริง ไม่ใช่เป็นเพียงการจัดแสดงหรือรณรงค์เป็นบางช่วงเท่านั้น เช่น บางท้องถิ่น บางหน่วยงานรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นหรือในหน่วยงานแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ตัด เย็บจากผ้าพื้นเมือง ก็ควรหาแบบเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับคนทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ราคาย่อมเยา ไม่ควรให้คนรุ่นใหม่คิดว่าการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองเป็นความเชย ดูแลรักษายาก ราคาแพง และเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะผู้สูงอายุหรือใช้แต่งเฉพาะเวลามีงานสำคัญเท่า นั้น 

4. สร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เช่น ส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชนรักษากิริยามารยาทแบบไทย เช่น มีสัมมาคารวะ เคารพผู้ใหญ่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักนวลสงวนตัว รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน เช่น รณรงค์ให้พูดออกเสียงภาษาไทยให้ชัดเจน ไม่พูดภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ เป็นต้น


การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน

2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย 

3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้อง ถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม 

4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิด ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและ รอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ 

6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของ ชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและ วัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ